อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่าทุกครั้งที่เราต้องใช้ถนนร่วมกับคนอื่น อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถึงแม้เราจะขับขี่ด้วยความระมัดระวังมากเพียงใดก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุกับรถของเรา
แน่นอนว่าหากเกิดอุบัติเหตุย่อมมีค่าเสียหายที่เกี่ยวกับรถเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถของเรา หรือรถของคู่กรณี ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้เราปลอดภัยและมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตบนท้องถนน คือการทำประกันรถยนต์ นอกจากจะได้รับความคุ้มครองแล้วยังสามารถช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย
ประกันรถยนต์ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ประกันภาคบังคับ
ประกันภาคบังคับ หรือที่เราเรียกกันว่า พ.ร.บ. ซึ่งจะบังคับให้ยานพาหนะทางบกทุกประเภทที่ทำการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ต้องทำเพื่อเป็นการคุ้มครองจากผลกระทบของอุบัติเหตุ โดยไม่คำนึงว่าบุคคลที่ได้รับผลจากอุบัติเหตุนั้น จะเป็นฝ่ายผิด หรือไม่ โดยกฎหมายจะให้ความคุ้มครองในรูปของเงินชดเชย และค่ารักษาพยาบาลตามที่ได้กำหนดไว้ โดยผู้ที่ได้รับความคุ้มครองได้แก่ ผู้ประสบภัย หรือประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือแม้แต่คนเดินเท้า หากได้รับความเสียหายแก่ ชีวิต ร่างกาย อนามัย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากรถ และทายาทของผู้ประสบภัย ในกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต
การฝ่าฝืน ไม่ทำประกันภัยรถ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 นั้น ถูกกำหนดให้ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2. ประกันภาคสมัครใจ
ประกันภาคสมัครใจ คือประกันที่เราซื้อจากบริษัทประกันเอกชนทั่วไป เป็นการเลือกซื้อความคุ้มครองประกันภัยตามความพึงพอใจของผู้ซื้อ ซึ่งผู้ซื้อทำด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับโดยกฎหมาย ซึ่งจะคุ้มครองมากกว่าประกันภาคบังคับ ไม่ว่าจะเป็นคุ้มครองรถ ผู้ประสบเหตุ หรือสิทธิพิเศษอื่นๆ ตามเงื่อนไขที่ทางบริษัทกำหนด โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
- ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1
เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองมากกว่าการประกันภัยรถยนต์ประเภทอื่นๆ โดยมีความคุ้มครองหลักครบทั้ง 4 ประเภท ดังนี้
1. คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัย
2. คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
3. คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์
4. คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์
- ประภัยรถยนต์ประเภท 2
เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองใกล้เคียงกับการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 แตกต่างเพียงไม่มีความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ โดยมีความคุ้มครองหลัก ดังนี้
1. คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัย
2. คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
3. คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์
- ประภัยรถยนต์ประเภท 3
เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองน้อยกว่าการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 และประเภท 2 โดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ดังนี้
1. คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัย
2. คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
- ประภัยรถยนต์ประเภท 4
ให้ความคุ้มครองต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น โดยคุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 100,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง
- ประภัยรถยนต์ประเภท 5
เป็นแบบคุ้มครองภัยเฉพาะที่พัฒนาใช้งานขึ้นมาในภายหลัง แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
แบบประกัน 2 พลัส (2+) ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายแบบประกันภัยชั้น 2 แต่เพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และต้องมีคู่กรณี โดยให้ความคุ้มครอง ดังนี้
- คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ
- คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะทางบก
- คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย
แบบประกัน 3 พลัส (3+) ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายแบบประกันภัยชั้น 3 แต่เพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และต้องมีคู่กรณี โดยให้ความคุ้มครอง ดังนี้
- คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ
- คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
- คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะทางบก
ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 ทั้งประกัน 2 พลัส และประกัน 3 พลัส คือ
1. ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น
2. ต้องมีคู่กรณี ถ้าชนแล้วหนี หาพยานหลักฐานไม่ได้ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.oic.or.th/